สำหรับวัยทำงานทุกคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรมกันมาบ้าง อาการของโรคนี้ครอบคลุมหลายระบบในร่างกาย มีทั้งอาการปวดคอบ่าไหล่ อาการปวดข้อต่อและเส้นเอ็น อาการดวงตาล้า อาการปวดท้องจากการกินอาการไม่ถูกสุขลักษณะ หรือแม้แต่อาการปวดหัวจากความเครียดในการทำงาน โดยอาการทั้งหมดเหล่านี้ล้วนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและลดประสิทธิภาพในการทำงาน

ถ้าจะรอให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้วมารักษาทีหลัง นอกจากจะต้องอดทนกับความเจ็บปวด ยังต้องเสียเงินในการรักษาอีกด้วย ดังนั้นการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และวัยทำงานทุกคนสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

ขยับตัวเปลี่ยนท่าเวลาทำงาน

การนั่งทำงานเพลินหรือจดจ่ออยู่กับงานมีโอกาสทำให้ชาวออฟฟิศเผลอนั่งค้างท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทบางจุดโดนกดทับมากเกินไปจนเกิดอาการปวดหรือชา ดังนั้นการขยับตัวเปลี่ยนท่าทางเวลาทำงานอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้ โดยสามารถทำได้ด้วยการลุกเดินหรือยืดเหยียดร่างกาย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรมีการเปลี่ยนท่าทางและอิริยาบทอย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง

เสริมสร้างสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ การยืดเหยียดร่างกายจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าจากการทำงาน ซึ่งเป็นการลดอาการบาดเจ็บจากออฟฟิศซินโดรมได้ดี นอกจากนั้นการออกกำลังกายยังช่วยลดความเครียดและผ่อนคลายจิตใจอีกด้วย

เลือกอาหารดีมีประโยชน์ให้ร่างกาย

การเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนก็เป็นหนึ่งในพื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับวัยทำงาน โดยควรเลือกอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ เป็นการช่วยควบคุมรูปร่างเพื่อลดน้ำหนักกดทับต่อข้อต่อและเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้ 

ออกแบบสภาพแวดล้อมโต๊ะทำงานให้เหมาะสม

การนั่งทำงานผิดท่า ต้องยืดคอหรือค้อมตัวมากไป ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะที่ หรืออาจลุกลามไปถึงการกดทับเส้นประสาท ชาวออฟฟิศจึงปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสายตา ไม่สร้างภาระให้คอบ่าไหล่ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป หรืออาจลงทุนกับเก้าอี้ดี ๆ ที่ทำให้การนั่งทำงานสะดวกสบายขึ้น

พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ

ความเครียดจากการทำงานเป็นอีกสาเหตุหนึ่งสาเหตุของอาการออฟฟิศซินโดรม ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนหลังเลิกงานก็เป็นสิ่งสำคัญ สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน เช่น การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หางานอดิเรกที่ชอบเพื่อช่วยผ่อนคลาย ออกไปใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของชาวออฟฟิศได้เป็นอย่างดี

ถ้าชาวมนุษย์เงินเดือนคนไหนที่กำลังมีอาการเริ่มต้นของออฟฟิศซินโดรมหรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้ ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มดูแลตัวเอง นำวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ เหล่านี้ไปเริ่มปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทำอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองไปทีละเล็กละน้อย สร้างนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมจะลดลงอย่างชัดเจน และทำให้สุขภาพโดยรวมทั้งร่างกายและจิตใจดีขึ้นอย่างแน่นอน