Tag: โรคออฟฟิศซินโดรม

ทำงานอย่างไร ให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

สำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ประจำโต๊ะตลอดเวลาหรือยืนทำงานตลอดเวลา เช่น พนักงานออฟฟิศ แคชเชียร์ หรืองานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ก็อาจทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมขึ้นได้

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

  1. ลักษณะการทำงาน นับว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น นั่งอยู่ที่ตลอดเวลา ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันทั้งวัน ทำงานในลักษณะยืนเป็นเวลานาน ๆ ไม่มีการผ่อนอิริยาบถ จนทำให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้ามากจนเกินไป
  2. สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น อุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม โต๊ะมีความต่ำหรือสูงเกินไปทำให้นั่งทำงานไม่สะดวก ทำงานในสถานที่แสงสว่างไม่เพียงพอทำให้ต้องเพ่งสายตามาก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุเช่นกัน
  3. สภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เช่น มีความเครียด มีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายไม่แข็งแรง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้

ลักษณะอาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดเมื่อยตามร่างกาย จะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ไหล่ คอ หลัง แขน ข้อมือ ขา อาการมีทั้งปวดเล็กน้อยไปจนถึงขาไปทั่วบริเวณและอาจเกิดการอักเสบรุนแรงของกล้ามเนื้อได้
  2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากระบบประสาทถูกกดทับจะทำให้เกิดอาการชาที่ระบบประสาท ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
  3. อาการหูอื้อ ตาพร่า ตาแห้ง ตาไม่สู้แสงสว่าง น้ำตาไหล มึนงง ปวดศีรษะเรื้อรัง
  4. มีอาการนิ้วล็อกที่เกิดจากอาการอักเสบของเอ็นนิ้วมือทำให้เกิดพังผืด ไม่สามารถยืดหรือหดนิ้วได้ตามปกติ

การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

  1. หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การยืนเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างทำงานอยู่เสมออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พัก
  2. พักสายตาจากการมองจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะ หาแว่นตาที่สามารถกรองแสงจากจอคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ช่วยถนอมสายตาได้ แต่ที่สำคัญเมื่อรู้สึกมีอาการสายตาล้า แสบตา ควรหยุดพักก่อน
  3. หากต้องนั่งทำงานที่โต๊ะตลอดเวลา ควรจัดโต๊ะทำงานให้มีความสูงเหมาะสมกับสรีระของตนเอง ปรับเก้าอี้ให้นั่งสบาย
  4. หากต้องทำงานที่ต้องยืนตลอดเวลา ควรเลือกสวมรองเท้าที่พื้นหนาและนุ่มสบาย เพื่อลดอาการปวดเท้า และควรหาเวลานั่งพักบ้างเพื่อป้องกันการอักเสบของกล้ามเนื้อ
  5. หมั่นออกกำลังกายบ้าง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่เกิดอาการเจ็บป่วยง่ายเมื่อต้องทำงานในระยะเวลาที่ยาวนาน

โรคออฟฟิศซินโดรมนั้นสามารถป้องกันได้ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้มีความเหมาะสม และควรหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ หากร่างกายส่งสัญญาณว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพของตนเองเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะไม่ให้อาการเจ็บป่วยนั้นมาส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง

รู้จักกับออฟฟิศซินโดรม โรคที่พบบ่อยกับคนทำงานประจำในออฟฟิศ

เมื่อพูดถึงการทำงานประจำในออฟฟิศของคนส่วนใหญ่ จะเท่ากับการใช้เวลาตั้งแต่ 08:00 น ถึง 16:00 น. เพื่อทำงานคีย์ข้อมูลอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือทำงานด้านเอกสารที่แทบไม่ได้เดินเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งทำให้มีคนป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) จนต้องมาปรึกษาแพทย์มากขึ้น จากสถิติพบว่า อาการนี้เป็นเรื่องปกติของคนทำงานประจำราว 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เราจะมาดูกันว่า โรคนี้เป็นอย่างไรและจะมีวิธีจัดการอย่างไร เพื่อที่จะลดความรุนแรงของปัญหานี้ในคนทำงานประจำได้

ต้องยอมรับว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีอาการออฟฟิศซินโดรมอยู่แบบไม่รู้ตัว ทางการแพทย์ให้สังเกตว่าหากคุณมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรังอย่างไม่มีสาเหตุ คือ ปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ และตึงไปจนถึงช่วงหลังสะโพก ต้นขา บางครั้งอาจจะมีอาการนิ้วล็อกหรือปวดข้อมือร่วมด้วย ก็อาจเป็นโรคนี้แล้ว

นอกจากนี้ บางรายจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปวดหัวอย่างไม่ทราบสาเหตุ ปวดบริเวณกระบอกตา หรือเป็นไมเกรนร่วมด้วย หากคุณมีอาการเหล่านี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากทำงานนั่งโต๊ะต่อเนื่องเป็นเวลานาน นั่นค่อนข้างมั่นใจได้ว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว

โรคออฟฟิศซินโดรมไม่จำกัดเฉพาะคนวัยทำงานเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่มีไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับไอที เช่น ชอบเล่นเกมส์ออนไลน์นาน ๆ หรือนั่งดูหนังในท่าเดียวต่อเนื่องมากกว่า 2 ชั่วโมง รวมถึงบางอาชีพ ได้แก่ นักกีฬาอีสปอร์ต กลุ่มโปรแกรมเมอร์ คนทำงานสายกราฟิก คนทำงานขายของออนไลน์ ทันตแพทย์และแพทย์ที่ต้องนั่งตรวจโรคประจำที่เป็นเวลานาน คนทำงานประดิษฐ์แนว DIY ที่ต้องใช้สมาธิสูงและอยู่กับที่เป็นเวลานาน ก็พบปัญหานี้ได้เช่นกัน

วิธีการเบื้องต้นที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ใช้บรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม คือ การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลและการนวด โดยใช้ยาทาแก้ปวดแบบเดียวกับที่นักกีฬาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่วิธีที่ถูกต้องคือต้องแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการเดินแกว่งแขน บิดเอวไปมา ยืดเส้นทุก ๆ ชั่วโมง ประมาณ 10 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ ร่วมกับการแบ่งเวลาว่างสัปดาห์ละ 2-3 วัน ในการออกกำลังกาย เช่น เล่นโยคะ วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน รําไทเก๊ก ฯลฯ เหล่านี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่จะทำให้คุณลดความรุนแรงของการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้เป็นอย่างดี

สำหรับกลุ่มคนทำงานประจำที่นิยมทำงานล่วงเวลาหรือโอที หรือนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน มักประสบปัญหาที่มากขึ้น เช่น โรคเครียดเรื้อรัง นอนหลับไม่สนิท เป็นโรคไมเกรนอย่างเรื้อรังตามมาด้วย กรณีนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน จะทำให้คุณลดความรุนแรงของปัญหาได้อย่างมาก