เมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นมาในบ้าน คุณแม่มือใหม่ก็จะได้พบกับประสบการณ์ด้านดีและด้านร้ายของมนุษย์ลูกไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งประสบการณ์ที่ดีอย่างพัฒนาการใหม่ ๆ เช่น การนั่ง การเดิน การคลาน การวิ่ง ฯลฯ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ทำให้คนเป็นแม่ประทับใจ ปลื้มปิติ แต่เมื่อถึงวัยกำลังซนทำให้คนเป็นแม่ต้องมีเรื่องให้โมโหปรี๊ดแตกได้เช่นกัน ซึ่งอารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่รุนแรง หากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่คนเป็นแม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลังเป็นแน่

เคล็ดลับระงับความโกรธของคุณแม่มือใหม่ที่มีลูกวัยกำลังซน มีวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทุกที่ คือ การ Take a break พักรบสักครู่ เริ่มต้นด้วยการที่คุณแม่และคุณลูกควรแยกห่างกันสักพัก โดยใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อให้คุณแม่ใจเย็นลงและคุณลูกได้ทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง โดยอาจใช้เวลาอยู่ในห้องเดียวกันแต่คนละมุมเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ในระหว่างนั้นคุณแม่ควรหลับตา หายใจเข้า – ออกลึก ๆ หากมีน้ำเย็นให้จิบน้ำไปด้วยจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้หากใช้วิธีการปราบมนุษย์ลูกตัวร้ายเชิงบวกร่วมด้วยจะช่วยลดความซนของลูกตัวน้อยโดยไม่ก่อให้เกิดการขัดขวางพัฒนาการ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

วิธีการปราบเด็กดื้อ เด็กซน เชิงบวก

  • หันหน้าเข้าหากัน เมื่อใช้เวลาพักรบเรียบร้อยให้คุณแม่กอดลูกเอาไว้แล้วพูดคุยกับลูกดี ๆ ว่าทำไมถึงไม่ควรทำพฤติกรรมดังกล่าว เช่น ลูกรื้อของกระจัดกระจาย, ลูกไม่ยอมทานข้าว, ลูกไม่ยอมอาบน้ำ เป็นต้น และบอกถึงผลที่จะตามมา
  • ช่วยกันแก้ปัญหา หลังจากพูดคุยกันด้วยเหตุผลเรียบร้อยแล้วให้คุณแม่ชวนคุณลูกแก้ปัญหาตรงหน้า เช่น ลูกรื้อข้าวของกระจัดกระจายให้ลูกช่วยแม่เก็บของให้เป็นระเบียบ, ลูกไม่ยอมทานข้าวเพราะมัวแต่เล่นให้คุณแม่แจ้งเตือนเวลาก่อนเปลี่ยนกิจกรรมทุกครั้งเพื่อให้ลูกได้เตรียมตัว เป็นต้น
  • ทำโทษเชิงบวก หากคุยกันไม่เข้าใจและช่วยกันแก้ปัญหาแล้วแต่ไม่ดีขึ้น ควรมีการทำโทษเชิงบวก เช่น งดกิจกรรมที่ลูกชอบเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือ 1 วัน, หากลูกไม่ยอมทานข้าวก็ไม่ต้องบังคับให้ลูกรับประทานมื้อถัดไป โดยในระหว่างมื้อจะต้องงดขนม งดนม เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าหากไม่ได้ทานอาหารตามเวลาที่แม่บอกจะต้องรู้สึกหิวและไม่ได้ทานขนม เป็นต้น

การเลี้ยงลูกเชิงบวกเป็นวิธีการที่ต้องใช้ความอดทน หากเหตุการณ์ใดที่ทำให้คุณแม่รู้สึกโมโหจนทนไม่ไหว คุณแม่ควรหลบออกมาจากลูกสักระยะ โดยให้ลูกอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและรอก่อน แต่หากว่าคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการซึมเศร้าร่วมด้วยควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการ หรือโทร. 1323 (สายด่วนสุขภาพจิต) เพื่อขอรับคำปรึกษาและวิธีการจัดการกับอารมณ์โมโหเบื้องต้นได้