ทุกคนอยากจะมีเงินในบัญชีธนาคารให้มากเข้าไว้ จะได้มั่นใจว่าในอนาคตจะไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทอง และยังสามารถมีไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตแบบที่ชื่นชอบหรือมีเงินเก็บวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น

วิธีบริหารเงินเพื่อเสริมสร้างเงินเก็บ จึงต้องเริ่มทำเสียแต่วันนี้ ได้แก่

1. การทําบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำ

เป็นหนึ่งในหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ การมีบัญชีรับจ่ายจะทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนคุณมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของรายได้ และเพื่อที่จะได้ดูว่าหมวดสินค้าใดที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดออกได้บ้าง เพราะส่วนนั้นจะกลายมาเป็นเงินเก็บให้มากขึ้นได้

2. ให้ความสำคัญกับการจ่ายหนี้หรือค่าใช้จ่ายประจำ

การจ่ายค่าน้ำไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ รวมถึงหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา หนี้สินบัตรเครดิต ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องมีวินัยในการชำระตามงวดที่กำหนดไว้ ไม่ควรค้างนานเพราะจะมีปัญหาเสียเครดิตและต้องเพิ่มการจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย หากมีวินัยส่วนนี้ จะทำให้คุณมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบในด้านอื่น ๆ ด้วย

3. การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

คุณสามารถที่ทำอาหารได้เองเพื่อลดค่าอาหารนอกบ้าน เริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การทอดไข่ ทำต้มจืด ยำ หรือทำอาหารคลีนผักสลัดแบบง่าย ๆ เทคนิคนี้ คือช่องทางในการประหยัดเก็บเงินให้มากขึ้น ลองคิดดูว่าจะดีแค่ไหน ถ้าค่าใช้จ่ายด้านอาหารวันละ 3 มื้อ ที่เคยจ่ายหลายพันบาทในแต่ละเดือน จะกลายมาเป็นเงินเก็บได้มากขึ้น

4. การซื้อสินค้าต้องคำนึงถึงโปรโมชั่น

สินค้าบางประเภท ทางบริษัทจะมีช่วงลดราคาพิเศษตอนปลายปี หรือก่อนเปลี่ยนคอลเลคชั่นใหม่ อย่างเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ จึงควรติดตามซื้อตอนนั้น หรือหากมีโปรโมชั่น ซื้อ 2 แถม 1 ช่วงใด ก็ควรซื้อตุนไว้ โดยเฉพาะของใช้ประจำในบ้าน น้ำยาล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ ผงซักฟอก จะทำให้ได้ของดีราคาถูกต่ำกว่าครึ่ง ซึ่งแม้บางอย่างอาจจะตกรุ่นไปบ้าง แต่ก็ทำให้คุณประหยัดได้คุ้มค่ามากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะเห็นแก่ของแถมหรือว่าสินค้าที่ราคาถูก หากคุณภาพไม่ดี ใช้ได้ไม่นานก็หมดสภาพ ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องซื้อสะสมไว้

จะเห็นได้ว่าวิธีบริหารการใช้จ่ายเพื่อมีเงินเหลือเก็บมากขึ้นที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทุกท่านใส่ใจการทำบัญชี มีวินัยในการใช้จ่าย การวางแผนชำระหนี้สินอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้คุณมีเงินเหลือเก็บได้มากขึ้นต่อไป

วิธีบริหารการใช้จ่ายเพื่อเงินเก็บมากขึ้น