ช่วงตั้งครรภ์เป็นภาวะพิเศษของร่างกายที่คุณแม่จะมีความอ่อนแอเสี่ยงต่อโรคหลายชนิด ทั้งมีความผันผวนของระบบฮอร์โมน ช่วงที่ตั้งครรภ์ 9 เดือนจึงเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ผู้หญิงต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ให้ห่างไกลจากหลายโรค ทั้งที่มาจากการติดเชื้อและโรคเรื้อรังบางอย่าง อันอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ดังนี้

1.โรคเบาหวาน
คุณแม่หลายคนมีภาวะเบาหวานเกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งครรภ์ ซึ่งต้องระมัดระวังและหมั่นเจาะเลือดตรวจเป็นระยะตามแพทย์นัด เพราะการมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติต่อเนื่องจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในท้องและหลังคลอดได้

2.การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อมดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้นจากเด็กที่อายุครรภ์มากขึ้น จะทำให้เกิดแรงกดต่อกระเพาะปัสสาวะ และหากมีพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะอยู่เสมอด้วย ก็จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องคอยดื่มน้ำเป็นระยะและห้ามกลั้นปัสสาวะ เพื่อลดความจำเป็นในการกินยาฆ่าเชื้อ อันควรหลีกเลี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์

3.โรคโลหิตจาง
ในระหว่างการตั้งครรภ์ผู้หญิง ลูกในท้องจะมีการใช้ทรัพยากรภายในร่างกายของแม่ เช่น เลือด สารน้ำ โปรตีน ฯลฯ หากบำรุงร่างกายไม่เพียงพอ การรับประทานโปรตีน ผัก ผลไม้ น้อยเกินไป จะทำให้มีอาการของภาวะเลือดจางได้ อาทิ เวียนหัว หน้ามืด เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ซึ่งต้องชดเชยด้วยการเสริมธาตุเหล็กและการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เลือดหมู ไข่แดง ฯลฯ

4.ภาวะแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องมักเป็นเฉพาะในช่วงระยะ 2-3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะทุเลาลง แต่มีหลายคนที่มีอาการแพ้ท้องจนคลอด จึงรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ สารอาหารที่ได้รับจึงไม่เพียงพอต่อพัฒนาการของลูก เมื่อเด็กมีน้ำหนักน้อยจะสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงเสียชีวิตได้มากขึ้น

5.ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากระบบการไหลเวียนของเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมต้องสูบฉีดเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงที่แม่คนเดียว กลายเป็นต้องเลี้ยงทั้งสองชีวิต คือ แม่และเด็กในท้อง ดังนั้นภาวะความดันโลหิตสูงและความผิดปกติของหัวใจจึงพบได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ ทางที่ดีควรพบแพทย์เป็นประจำตามนัดเพื่อตรวจพบความผิดปกติอย่างรวดเร็วและรับการรักษาได้ทันท่วงที

6.โรคซึมเศร้า
คุณแม่หลายคนมีภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ภายในครอบครัวช่วยเหลือกันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่อนคลายภาวะอารมณ์ที่ตึงเครียด โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือคุณแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น

ก่อนการตั้งครรภ์ เราควรเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและสังเกตอาการของโรคต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในระยะตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ควรหมั่นตรวจร่างกายเพื่อพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้จัดการกับโรคที่กล่าวมาได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว