สำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ประจำโต๊ะตลอดเวลาหรือยืนทำงานตลอดเวลา เช่น พนักงานออฟฟิศ แคชเชียร์ หรืองานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ก็อาจทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมขึ้นได้

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

  1. ลักษณะการทำงาน นับว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น นั่งอยู่ที่ตลอดเวลา ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันทั้งวัน ทำงานในลักษณะยืนเป็นเวลานาน ๆ ไม่มีการผ่อนอิริยาบถ จนทำให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้ามากจนเกินไป
  2. สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น อุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม โต๊ะมีความต่ำหรือสูงเกินไปทำให้นั่งทำงานไม่สะดวก ทำงานในสถานที่แสงสว่างไม่เพียงพอทำให้ต้องเพ่งสายตามาก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุเช่นกัน
  3. สภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เช่น มีความเครียด มีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายไม่แข็งแรง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้

ลักษณะอาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดเมื่อยตามร่างกาย จะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ไหล่ คอ หลัง แขน ข้อมือ ขา อาการมีทั้งปวดเล็กน้อยไปจนถึงขาไปทั่วบริเวณและอาจเกิดการอักเสบรุนแรงของกล้ามเนื้อได้
  2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากระบบประสาทถูกกดทับจะทำให้เกิดอาการชาที่ระบบประสาท ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
  3. อาการหูอื้อ ตาพร่า ตาแห้ง ตาไม่สู้แสงสว่าง น้ำตาไหล มึนงง ปวดศีรษะเรื้อรัง
  4. มีอาการนิ้วล็อกที่เกิดจากอาการอักเสบของเอ็นนิ้วมือทำให้เกิดพังผืด ไม่สามารถยืดหรือหดนิ้วได้ตามปกติ

การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

  1. หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การยืนเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างทำงานอยู่เสมออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พัก
  2. พักสายตาจากการมองจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะ หาแว่นตาที่สามารถกรองแสงจากจอคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ช่วยถนอมสายตาได้ แต่ที่สำคัญเมื่อรู้สึกมีอาการสายตาล้า แสบตา ควรหยุดพักก่อน
  3. หากต้องนั่งทำงานที่โต๊ะตลอดเวลา ควรจัดโต๊ะทำงานให้มีความสูงเหมาะสมกับสรีระของตนเอง ปรับเก้าอี้ให้นั่งสบาย
  4. หากต้องทำงานที่ต้องยืนตลอดเวลา ควรเลือกสวมรองเท้าที่พื้นหนาและนุ่มสบาย เพื่อลดอาการปวดเท้า และควรหาเวลานั่งพักบ้างเพื่อป้องกันการอักเสบของกล้ามเนื้อ
  5. หมั่นออกกำลังกายบ้าง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่เกิดอาการเจ็บป่วยง่ายเมื่อต้องทำงานในระยะเวลาที่ยาวนาน

โรคออฟฟิศซินโดรมนั้นสามารถป้องกันได้ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้มีความเหมาะสม และควรหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ หากร่างกายส่งสัญญาณว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพของตนเองเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะไม่ให้อาการเจ็บป่วยนั้นมาส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง